ศัพท์ควรรู้ของผู้ดื่มเบียร์

CRAFT BEER DISCOVERY #29

ศัพท์ควรรู้ของผู้ดื่มเบียร์

ศัพท์ควรรู้ของผู้ดื่มเบียร์ 2048 1152 SPACECRAFT

เนื่องจากคราฟท์เบียร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่ผสมกับศิลปะ การจะเข้าใจเบียร์ให้มากขึ้นเราจะต้องเข้าใจศัพท์เทคนิคบางคำ วันนี้ทางเราขอเสนอศัพท์คราฟท์เบียร์ที่มักพบบ่อยๆ ทั้งในด้านการผลิต การชิมรส และการวัดค่า ศัพท์ทั้งหมดที่นำมาเสนอวันนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีศัพท์อีกมากมาย เพราะมนุษย์กับการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ด้วยกันมานานมากๆ

เรามาเริ่มกันเลย 🚀


Ale

คือเบียร์ที่หมักโดยใช้ยีสต์แบบ Top Ferment เบียร์ Ale จะหมักที่อุณหภูมิสูงกว่า Lager และเสิร์ฟที่อุณหภูมิสูชกว่าเช่นกัน

Acetaldehyde

ส่วนประกอบทางเคมีและผลผลิตข้างเคียงที่เกิดจากการหมัก ซึ่งให้กลิ่นและรสเป็นแอปเปิ้ลเขียว

Adjunct

เมล็ดพืชหรือวัตถุดิบอื่นที่สามารถเอาไปใช้เป็นน้ำตาลในการหมักได้ มักจะเป็น ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล น้ำผึ้ง และอื่นๆ

Alcohol by Volume (ABV)

การวัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ละลายอยู่ในเบียร์ ในรูปเปอร์เซ็นต์ของปริมาณแอลกอฮอล์ต่อปริมาตรของเบียร์

All-Malt Beer

เบียร์ที่ใช้วัตถุดิบในการทำ wort เป็นมอลต์ทั้งหมด ไม่ได้ใช้แหล่งน้ำตาลจากวัตถุดิบอื่น

Barley

คือเมล็ดธัญพืชประเภทข้าวชนิดหนึ่ง ข้าวบาร์เลย์ใช้เป็นมอลต์พื้นฐานในการผลิตเบียร์และสุรากลั่นบางชนิด แบบที่ใช้ทำเบียร์จะมีแบบ 2 แถวและ 6 แถว

Bitterness

ในเบียร์ความขมจะมาจาก tannin และ iso-humulones จากฮอป ความขมของฮอปจะมีอยู่ในรสชาติ และความขมเป็นสิ่งหนึ่งในการกำหนดสไตล์

Brewpub

โรงเบียร์ในรูปร้านอาหาร ที่มีการผลิตเบียร์และขายให้ดื่มในรูปเบียร์สด

Conditioning

หนึ่งในขั้นตอนการผลิตเบียร์ที่เราเรียกว่าการ บ่ม เพราะเบียร์บางสไตล์ต้องการเวลาเพื่อให้เข้าที่มากกว่า

Carbon Dioxide (CO2)

ผลผลิตจากการทำงานของยีสต์ และเป็นสิ่งที่ต้องมีในเบียร์ถ้าต้องการให้เบียร์ซ่า

Diacetyl

สารประกอบที่เกิดจากการทำงานของยีสต์ ให้รส เนย คาราเมล หรือ ถั่ว เบียร์บางสไตล์ยอมให้มีได้เล็กน้อย แต่ส่วนมากจะไม่ควรมี

Draft Beer

หรือที่เราเรียกกันว่าเบียร์สด เป็นเบียร์ที่ถูกดูดออกมาจาก ถังเบียร์ (Keg) เป็นการเสิร์ฟเบียร์อีกแบบนอกจากแบบที่บรรจุขวดหรือกระป๋อง

Esters

กลิ่นรสระเหยที่เป็นผลผลิตมาจากการทำงานของยีสต์ในระหว่างการหมักและมีส่วนทำให้เกิดกลิ่นและรสของเบียร์ พบเป็นปกติสำหรับเบียร์ Ale

Essential Hop Oils

น้ำมันหอมระเหยเกิดจากการ isomerized ของฮอป เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการทำเบียร์ของฮอป

Fermentation

การเปลี่ยนแปลงทางเคมีของน้ำตาลกับยีสต์ โดยยีสต์จะกินน้ำตาลและคายแอลกอฮอล์, CO2 และ Esters ออกมา หรือที่เราเรียกว่า การหมัก

Filtration

คือการกรองเอาสารบางชนิดออกจากเบียร์ จำพวก สารแขวงลอย หรือยีสต์

Grist

มอลต์หรือธัญญพืชที่ถูกบดแล้วเตรียมเข้าขั้นตอน mashing

Grainy

รสชาติหรือกลิ่นที่เหมือนธัญญพืชหรือเมล็ดพืชดิบ

Homebrewing

การผลิตเบียร์กันเองในบ้าน ที่อเมริกาได้ผ่านกฏหมายนี้ในปี 1979 แต่ในบ้านเรายังผิดกฏหมายอยู่

Head Retention

ความสามารถในการคงตัวของฟองเบียร์ที่วัดด้วยหน่วยวินาที ที่ฟองความสูง 1 นิ้ว

International Bitterness Units (IBU)

การวัดความขมโดยวัดปริมาณสารที่ก่อให้เกิดรสขมในเบียร์ (ประเมินโดยวิเคราะห์เป็นมิลลิกรัมของกรดอัลฟาไอโซเมอร์ต่อลิตรของเบียร์ในหน่วย ppm) แต่ละสไตล์ของเบียร์จะมีความขมที่ต่างกัน

Irish Moss

ใช้เพื่อทำให้เบียร์ใส ทำมาจากการปรับโมเลกุลของสาหร่ายทะเล Chondrus crispus ช่วยให้โปรตีนตกตะกอน

Juicy

กลิ่นและรสแบบหนึ่งที่เกิดจากการใส่ฮอปสายพันธุ์อเมริกาหรือฮอปโลกใหม่จำนวนมาก

Keg

ถังสำหรับใส่เบียร์ ส่วนใหญ่จะทำจากเหล็กหรืออลูมิเนียม ใช้สำหรับใส่เบียร์สดไปขายที่ร้าน ปัจจุบันมีแบบทำด้วยพลาสติกแล้ว

Kilning

หนึ่งในขั้นตอนการผลิตมอลต์ โดยการเอามอลต์ที่รากงอกแล้วไปผ่านความร้อนเพื่อลดความชื้นลง

Kraeusen

ฟองที่เกิดด้านบนของ wort ในขั้นตอนการหมัก

Lager

ลาเกอร์คือเบียร์ที่หมักด้วยยีสต์แบบ Bottom Ferment หมักที่อุณหภูมิที่เย็นกว่า Ale ลาเกอร์มักเป็นเบียร์ที่มีรสชาติที่คมชัด สะอาด เสิร์ฟเย็นกว่าเบียร์ Ale

Lagering

การเก็บเบียร์แบบ Bottom Ferment ในที่ๆมีอุณหภูมิต่ำใกล้ 0 องศา โดยเก็บเวลาต่างกัน เพื่อให้ยีสต์เซทตัวและเพิ่มรสชาติ

Lightstruck (Skunked)

กลิ่นเหม็นที่รู้สึกได้ทั้งกลิ่นและรสของเบียร์ ต้นเหตุคือเบียร์ถูกแสงมากเกินไป

Mashing

ขั้นตอนการผสมมอลต์ที่บดแล้ว (และอาจเป็นเมล็ดธัญพืชหรืออื่นๆ) กับน้ำร้อนในอุณหภูมิที่กำหนดเพื่อให้เอ็นไซม์ทำการเปลี่ยนแป้งให้เป็นน้ำตาลที่ยีสต์ใช้ในหมักได้ หลังจากแยกกากแล้วจะเป็นน้ำที่มีน้ำตาลสูงเรียกว่า wort

Milling

หนึ่งในขั้นตอนการผลิตเบียร์ โดยการบดมอลต์หรือธัญพืชอื่นๆเพื่อเตรียมนำไปใช้ต่อ

Mouthfeel

รสสัมผัสในปากที่ได้รับจากการดื่มเบียร์ ประกอบด้วย คาร์โบเนชั่น เนื้อเบียร์และ aftertaste

Noble Hops

ฮอปสายพันธุ์ยุโรปดั้งเดิมมีรสชาติและกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่จะปลูกอยู่ในพื้นที่เล็กๆสี่แห่งในยุโรปเท่านั้น ตามนี้
1.Hallertau in Bavaria, Germany
2.Saaz in Zatec, Czech Republic
3.Spalt in Spalter, Germany
4.Tettnang in the Lake Constance region, Germany

Nitrogen

เมื่อใช้อัดในขั้นตอนที่จะทำให้เบียร์ซ่าจะให้ความรู้สึกครีมมี่ในปาก แต่ต่างจาก CO2 ที่ใช้ทำให้เบียร์ซ่าตามปกติ

Original Gravity (OG)

ความถ่วงพื้นฐานหรือปริมาณของโมเลกุลน้ำตาลที่ละลายอยู่ใน wort ก่อนเข้าสู่กระบวนการหมัก ใช้เป็นตัววัดค่าต่างๆในการผลิตเบียร์ และใช้กำหนดสไตล์

Oxidized

กลิ่นที่เกิดจากเบียร์ที่สัมผัสกับออกซิเจนจนเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจะมีกลิ่นเหม็นของกระดาษแข็งเปียก กระดาษ เชอร์รี่สับปะรดเน่า และรูปแบบอื่นๆ มากมาย

Pitching

คือขั้นตอนการใส่ยีสต์ลงใน wort ในอุณหภูมิที่ต้องการก่อนจะเริ่มการหมัก

Priming

การเติมน้ำตาลที่ยีสต์ใช้ในการหมักในจำนวนเล็กน้อยลงในเบียร์ที่หมักเสร็จแล้วก่อนบรรจุ เพื่อให้ยีสต์ทำงานต่อและเกิดความซ่า

Quaff

การดื่มแบบเต็มที่(ใช้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)

Resin

สารที่มีความเหนียวที่เกิดจากพืชบางชนิด ตัวอย่างเช่น Humulone และ lupulone เป็นเรซินที่มีรสขมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในดอกของฮอป และเป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์ของเบียร์บางสไตล์

Residual Sugar

น้ำตาลที่เหลืออยู่หลังจบการหมัก เป็นน้ำตาลที่ยีสห์ไม่สามารถจัดการได้

Reinheitsgebot

กฎหมายความบริสุทธ์ในเบียร์ ที่บังคับวัตถุดิบในการผลิต (อ่านเพิ่มเติมได้ในคอมเม้นท์)

Standard Reference Method (SRM)

วิธีการวิเคราะห์และวัดระดับสีที่ผู้ผลิตเบียร์ใช้ในการวัดและหาปริมาณสีของเบียร์ ยิ่งค่า SRM สูงเท่าไหร่ เบียร์ก็จะยิ่งเข้มขึ้นเท่านั้น

Session Beer

เบียร์ที่เนื้อเบียร์เบามีแอลกอฮอล์ต่ำ ที่ดื่มได้ง่ายและมากกว่าปกติ

Solvent-like

คาแรคเตอร์ในด้านกลิ่นและรสที่ออกมาคล้ายกลิ่นแล็กเกอร์ ทินเนอร์ ส่วยใหญ่เกิดจากการหมักที่อุณหภูมิสูงเกินไป

Sulfur

กลิ่นไข่เน่าหรือกลิ่นไม้ขีดตอนติดไฟ เกิดจากผลผลิตเสริมจากยีสต์ หรืออาจเพราะเบียร์โดนแสง

Top Fermentation

วิธีการหมักแบบพื้นฐานหนึ่งในสองวิธีที่เรียกจากพฤติกรรมของยีสต์ โดยยีสต์จะลอยขึ้นไปทำงานใกล้พื้นผิวของน้ำเบียร์ด้านบนในถังหมัก

Volumes of C02

วิธีการวัดปริมาณ CO2 ที่ละลายอยู่ในน้ำเบียร์ เพื่อวัดระดับความซ่า

Wort

น้ำที่มีน้ำตาลหลายขนาดโมเลกุลละลายอยู่ เพื่อนเป็นอาหารแก่ยีสต์ต่อไป เป็นสิ่งที่ได้จากการแยกของแข็งออกจากของเหลวหลังขั้นตอน Mashing

Yeast

ในขั้นตอนการหมัก ยีสต์จะเปลี่ยนน้ำตาลจากมอลต์ให้เป็นแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยีสต์ถูกมองครั้งแรกด้วยกล้องจุลทรรศน์ในปี ค.ศ. 1680 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ Antonie van Leeuwenhoek

Zymurgy

ชื่อสาขาวิชาหนึ่งในวิชาเคมี ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการหมักในการผลิตแอลกอฮอล์


ถ้ามีคำไหนอยากจะเสนอจะเอามาอัพเดทเพิ่มในโพสท์นี้นะครับ แล้วพบกับใหม่สัปดาห์หน้า

Drink Responsibly.
SPACECRAFT

Back to top