กับแกล้มที่เหมาะกับคราฟท์เบียร์

CRAFT BEER DISCOVERY #34

กับแกล้มที่เหมาะกับคราฟท์เบียร์

กับแกล้มที่เหมาะกับคราฟท์เบียร์ 2048 1152 SPACECRAFT

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดื่มคราฟท์เบียร์หรือเบียร์ลาเกอร์สายหลัก บางทีจะต้องมีกับแกล้มมาทานด้วย หรือการดื่มเครื่องดื่มใดๆ การมีอาหารหรือของว่าง ทานคู่กันเป็นการเพิ่มประสบการณ์ กับแกล้มกับเหล้าเบียร์ในบ้านเราคือสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด ด้วยวัตถุดิบสร้างสรรค์จากวัฒนธรรม และความปราณีตด้านอาหารของบ้านเรา

การจับคู่นั้นเราต้องเขาใจการรับรสชาติพื้นฐานก่อน รสชาติเรารับผ่านเคมีจำพวก esters, phenols, aldehydes, linear-terpenes, ketones, lactones, thiols และสารประกอบอื่นๆ จำนวนมากที่ส่งเข้าสู่ตัวรับกลิ่น (olfactory receptors) ส่งคลื่นไฟฟ้าผ่านหลอดดมกลิ่น (olfactory bulp) และส่งเข้าไปสู่สมอง ส่วนที่ลิ้น จะมีสารเคมีอีกชุดที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกขม หวาน เปรี้ยว เค็ม และอูมามิ สิ่งเร้าเหล่านี้ กลิ่นและรสจะไปรวมกันในฮิบโปแคมปัสเพื่อสร้างประสบการณ์ที่เราเรียกว่ารสชาติ


ส่วนประกอบต่างๆในเบียร์ก็มีผลต่อคาแรคเตอร์ต่างๆในอาหารเช่นกัน ส่วนประกอบเหล่านี้จะปรากฏในเบียร์ในความแรงที่แตกต่างกัน

เนื้อเบียร์

เป็นคุณลักษณะสำคัญที่ควรพิจารณาเมื่อต้องจับคู่อาหาร เบียร์ที่เนื้อเบียร์บางมักจะจับคู่ได้ดีกับอาหารมื้อเบา ๆ เช่น สลัด ในขณะที่เบียร์ที่มีเนื้อเบียร์หนากว่าจะเหมาะกับอาหารที่เข้มข้นและหนักกว่า

มอลต์

หนึ่งใน 4 วัตถุดิบหลักในการผลิตเบียร์ ที่มีผลต่อรสชาติ สีและคาแรคเตอร์เบียร์ ที่ผู้ผลิตสามารถเลือกคาแรคเตอร์ที่หลากหลายได้ โดยเบียร์ที่ใช้มอลต์คั่วจะไปได้ดีกับของหวานแบบช็อกโกแล็ต ส่วนเบียร์ที่มีความหวานจากมอลต์จะไปได้ดีกับอาหารรสจัด

ความขมและอโรม่า

ชนิดและปริมาณของฮอป ตลอดจนเวลาและระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการผลิตเบียร์มีบทบาทสำคัญในระดับความขมและกลิ่นของเบียร์ เบียร์ที่มีความขมสูง เช่น IPA จะช่วยเน้นความเผ็ด แต่ช่วยให้ความหวานเป็นกลางได้เช่นกัน เบียร์ที่มีกลิ่นหอมของฮอปเข้มข้น เช่น Pale Ale แบบที่ dry-hop ไปได้ดีกับอาหารที่เป็นกรด

คาร์โบเนชั่น

หากเราจะหาเบียร์ที่ช่วยล้างรสที่ติดในปาก เบียร์ที่คาร์โบเนชั่นสูงคือคำตอบ

ปริมาณแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์ในเบียร์ก็ส่งผลต่อการรับรส โดยเบียร์ที่แอลกอฮอล์สูงจะช่วยล้างรสที่ค้างในปากและให้ความสมดุลระหว่างความหวานและรสอูมามิ


และนี่คือการจับคู่สไตล์เบียร์ที่เหมาะสมกับกับแกล้ม

Pale Ale หรือ IPA

ด้วยความขมและความ hoppy ของ Pale Ale หรือ IPA ที่มี 2 สายคือแบบอเมริกันและแบบอังกฤษ ไปได้ดีกับของที่มีรสเค็ม เช่น ถั่ว ใส้กรอก แหนม รวมถึงของย่างต่างๆ เช่น คอหมูย่าง เสือร้องให้ และไปได้ดีกับ ลาบ น้ำตก หรืออาจจะเป็น burger และชีส

Wheat Beer

อาหารที่เค็ม เครื่องเทศรวมถึงของทอดเหมาะมากๆกับ wheat beer เช่น อาหารทะเล กุ้งแช่น้ำปลา ปลาดิบ แซลม่อน ยำวุ้นเส้น รวมถึงของทอดอย่าง ข้อไก่ทอด เฟรนช์ฟรายส์ ปีกไก่ทอด คาลามารี ไปถึง fish and chips

Stout และ Porter

เบียร์ที่มีคาแรคเตอร์คั่วที่โดดเด่น ไปได้ดีกับของย่างหรือของรมควัน อย่างบาร์บีคิว ปีกไก่ย่างซอส ไก่ย่าง หมูปิ้ง เนี้อย่าง ใส้กรอกอีสาน และก็ไปได้ดีกับของหวาน เช่น เค้กวนิลา ช็อกโกแล็ต คุกกี้ ไอครีม เค้กมะพร้าว

Amber หรือ Red Ale

เบียร์แบบเนื้อเบียร์หนาที่มีความคาราเมล fruity ไปได้ดีกับ อาหารจำพวกไก่ อาหารทะเล รวมถึงเบอร์เกอร์และอาหารรสจัด รวมถึงเข้ากับอาหารรมควันพวก ซี่โครง พูลพอร์ค บริสเก็ต คอหมู เสือร้องให้ และพิซซ่า

Lager และ Pilsner

เบียร์มาตรฐานของโลก ด้วยความเป็นกลางในรสชาติและคาร์โบเนชั่นที่สูง เหมือนเป็นเบียร์ครอบจักรวาลที่เข้าได้กับอาหารมากมายจากทั่วโลก ตั้งแต่ ของทอด เฟรนช์ฟรายส์ ถั่วทอด ปลาทอด ฮอดดอก เบอร์เกอร์ พาสต้า ชีส แซนวิช สลัด ข้าวเกรียบ เนื่อแดดเดียว ฯลฯ


ถึงแม้การจับคู่เบียร์กับกับแกล้มจะส่งผลต่อการเพิ่มรสชาติ การชูรส หรือการล้างรสในปาก แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทุกท่าน เพราะความชอบแต่ละท่านคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ขอให้ดื่มกันอย่างพอดี ทานกับแกล้มกันให้อร่อย และออกกำลังกายด้วยนะครับ เพราะเบียร์และกับแกล้มคือคู่หูแห่งการเพิ่มน้ำหนักชั้นดี 😅

พบกันใหม่สัปดาห์หน้า

SPACEMAN
Drink Responsibly.
SPACECRAFT

Back to top